กายภาพบำบัดคืออะไร?

กายภาพบำบัดคืออะไร?

   กายภาพบำบัด (Physical Therapy : PT)  เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู เป็นการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความสามารถในการใช้ร่างกายด้วยเทคนิคต่างๆ กายภาพบำบัดจะไม่เน้นการรับประทานยา หรือผ่าตัด แต่เน้นการบัดบำฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการออกกำลังกาย หรือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่เหมาะสมสำหรับอาการนั้นๆ โดยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ  กายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของร่างกายมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงชีวิต ซึ่งการกายภาพบำบัดมีหลายวิธี เช่น อัลตราซาวด์ เลเซอร์ ประคบร้อน ประคบเย็น ธาราบำบัด การนวด หรือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

 

การทำกายภาพบำบัดช่วยอะไรได้บ้าง?

การทำกายภาพบำบัดมีจุดประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูร่างกาย และเสริมสร้างความสามารถในการใช้ร่างกาย เพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดจะมุ่งเน้นที่การบรรเทาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการใช้ร่างกาย อาจมีดังนี้

  • บรรเทาอาการปวด
  • ป้องกัน หรือฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บ
  • ป้องกันความพิการ หรือลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัด
  • ป้องกันการล้มหรือลื่น โดยทำให้ร่างกายมีความสมดุลมากขึ้น
  • มีส่วนช่วยให้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้มากขึ้น
  • มีส่วนช่วยประคองอาการจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน
  • มีส่วนช่วยให้ใช้แขนขาเทียมได้ดีขึ้น
  • มีส่วนช่วยให้ใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ไม้เท้า ได้ดีขึ้น
  • เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ฟื้นฟูร่างกายหลังจากผ่าตัด
  • ฟื้นฟูร่างกายของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
  • ฟื้นฟูร่างกายหลังจากให้กำเนิดบุตร

โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่า ผู้ใช้บริการเหมาะกับการทำกายภาพบำบัดส่วนไหน และควรใช้เทคนิคใด

ทำไมถึงต้องทำกายภาพบำบัด

    เนื่องจากการทำกายภาพบำบัด เป็นการรักษาฟื้นฟูโดยไม่ต้องผ่าตัด และไม่ได้ใช้ยา จึงเป็นการรักษาที่ไม่ได้รับผลข้างเคียง และเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่เหมาะแก่การรักษา และการฟื้นฟูเป็นอย่างยิ่ง

 

อาการแบบไหนควรทำกายภาพบำบัด

- ผู้ที่มีอาการปวดทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ เช่น ปวดคอ บ่า หลัง เข่า

- ผู้ที่มีภาวะข้อติด เช่น ข้อไหล่ติด นิ้วล็อค 

- ผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต

- อาการชา จากการถูกกดทับของเส้นประสาท

- ผู้ที่ปัญหาการทรงตัว และ การเดิน 

- ผู้ป่วยหลังผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเข่า ผ่าตัดสะโพก